วันศุกร์, 18 กรกฎาคม 2568

กองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เดินหน้าขับเคลื่อนยุติเอดส์ในจังหวัดสงขลา เพื่อสร้างความตระหนักรู้ในการป้องกันโรค

12 ธ.ค. 2023
59

กองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เดินหน้าขับเคลื่อนยุติเอดส์ในจังหวัดสงขลา เพื่อสร้างความตระหนักรู้ในการป้องกันโรค และลดการแพร่ระบาดของการติดเชื้อ ขณะที่ผลสำรวจพบผู้ป่วยมากสุดในพื้นที่อำเภอหาดใหญ่ เมืองสงขลา และสะเดา

วันนี้ (12 ธ.ค. 66) นายแพทย์กู้ศักดิ์ บำรุงเสนา รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการสร้างเครือข่ายขับเคลื่อนยุติเอดส์ระดับจังหวัดสงขลา ระหว่างวันที่ 12 – 13 ธันวาคม 2566 ณ ห้องประชุมโรงแรมบุรีศรีภู อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โดยมีนายศักดิ์ณรงค์ สอนคง นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ กลุ่มงานควบคุมโรคติดต่อ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา พญ.สายรัตน์ นกน้อย รองผู้อำนวยการกองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค พร้อมด้วยผู้แทนจากสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 สงขลา ผู้แทนส่วนราชการ บุคลากรทางการศึกษา เจ้าหน้าที่สาธารณสุข องค์กรภาคประชาสังคม และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

นายแพทย์กู้ศักดิ์ บำรุงเสนา รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา กล่าวว่า จากการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการแก้ปัญหาเอดส์ พ.ศ. 2560-2573 มีเป้าประสงค์ที่จะยุติปัญหาเอดส์ โดยกำหนดว่าภายในปี 2573 จะลดจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่เหลือน้อยกว่า 1,000 ราย/ปี ลดการการเสียชีวิตจากเอดส์เหลือไม่เกิน 4,000 ราย/ปี และลดการตีตราและเลือกปฏิบัติ ไม่เกินร้อยละ 10 ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ท้าทายในการดำเนินงาน

ดังนั้น จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นเป้าหมายในการดำเนินงานยุติปัญหาเอดส์ระดับจังหวัด เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย 95 -95 -95 จึงมีความจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของหน่วยบริการสาธารณสุข เครือข่ายภาคประชาสังคม ตลอดจนองค์กรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาสร้างเครือข่ายการขับเคลื่อนงานยุติปัญหาเอดส์ระดับจังหวัดให้เกิดความตระหนักในยุติปัญหาเอดส์และลดการแพร่ระบาดของการติดเชื้อ HIV

สำหรับสถานการณ์โรคเอดส์ของจังหวัดสงขลา ที่ได้รับรายงานถึงวันที่ 30 กันยายน 2566 พบว่ามีผู้ป่วยเอดส์จำนวน 13,678 ราย รับการรักษาจำนวน 8,252 ราย เสียชีวิต 3,805 ราย และขาดการรักษา/ยังไม่ได้รับยา 1,621 ราย โดยพบผู้ป่วยเพศชายมากกว่าเพศหญิง อัตราส่วน 1.4:1 ปัจจัยเกิดจากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน ร้อยละ 98.55 รองลงมาคือมีประวัติรับเลือดและปลูกถ่ายอวัยวะและการติดเชื้อจากแม่สู่ลูก