วันศุกร์, 25 กรกฎาคม 2568

จากไฟฟ้าปลาไหล สู่หัวใจมนุษย์: นักวิจัยไทย–ญี่ปุ่น ค้นพบกลไกสร้างเซลล์ไฟฟ้า จุดประกายอนาคตการรักษาหัวใจล้มเหลว

20 พ.ค. 2025
32

ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดย ผศ.ดร.ศิลปชัย เสนารัตน์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยนาโกย่า และสถาบันวิจัยจากญี่ปุ่น เผยความก้าวหน้าครั้งสำคัญของโลกวิทยาศาสตร์ กับการค้นพบ “เซลล์ต้นกำเนิด” ที่อาจพัฒนาเป็นเซลล์ไฟฟ้าในปลาไหลไฟฟ้า ซึ่งเป็นสัตว์ที่สามารถปล่อยกระแสไฟฟ้าแรงสูงถึง 860 โวลต์ได้อย่างเป็นธรรมชาติ งานวิจัยชิ้นนี้ตีพิมพ์ในวารสาร Developmental Biology ฉบับพฤษภาคม 2568 และถือเป็นก้าวแรกสู่ความเข้าใจ “วิธีการสร้างเซลล์ที่สร้างไฟฟ้าได้จริงในร่างกาย”

โดยทั่วไป นักวิทยาศาสตร์รู้จักโครงสร้างของเซลล์ไฟฟ้า (electrocyte) ในปลาไหลไฟฟ้ามานาน ว่าคล้ายแบตเตอรี่ที่เรียงกันในรูปแบบเดียวกับการต่อไฟฟ้าแบบอนุกรม แต่ยังไม่มีใครเข้าใจว่าเซลล์เหล่านี้ “สร้างขึ้นมาอย่างไร” งานวิจัยนี้ได้ค้นพบกลุ่มเซลล์ที่ยังไม่พัฒนาเต็มที่ (เรียกว่า progenitor cell) บริเวณปลายล่างของอวัยวะไฟฟ้า ซึ่งยังไม่มีโปรตีนที่ใช้สร้างไฟฟ้าอยู่ภายในเซลล์ นักวิจัยสามารถติดตามการเปลี่ยนแปลงของเซลล์เหล่านี้จนกลายเป็นเซลล์ไฟฟ้าที่มีความสามารถในการปล่อยกระแสได้

ความรู้ใหม่นี้เปิดทางให้มนุษย์สามารถใช้เทคนิคทางพันธุกรรมและวิศวกรรมเนื้อเยื่อ เพื่อสร้าง “เซลล์หรือเนื้อเยื่อไฟฟ้า” ที่สามารถกระตุ้นหรือส่งสัญญาณคล้ายหัวใจได้ หากพัฒนาได้จริง เนื้อเยื่อชนิดใหม่นี้จะสามารถแทนที่เครื่องกระตุ้นหัวใจไฟฟ้า (Pacemaker) ซึ่งปัจจุบันยังต้องใช้การผ่าตัดฝังอุปกรณ์และมีข้อจำกัดด้านพลังงาน อายุการใช้งาน และการตอบสนองต่อร่างกาย

หากสร้างเนื้อเยื่อหัวใจที่ตอบสนองต่อไฟฟ้าได้จากเซลล์ที่พัฒนาจากแนวคิดของปลาไหลไฟฟ้า ผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือหัวใจล้มเหลว อาจสามารถฟื้นตัวได้โดยไม่ต้องพึ่งพาเครื่องมือเทียมอีกต่อไป ชิ้นเนื้อเหล่านี้อาจเติบโตไปพร้อมกับร่างกาย ตอบสนองต่อความต้องการของผู้ป่วยแบบเรียลไทม์ และลดภาวะแทรกซ้อนจากการฝังอุปกรณ์ไฟฟ้าในร่างกายอย่างมีนัยสำคัญ

ในอนาคต ทีมวิจัยมีแผนใช้ข้อมูลทางพันธุกรรมที่ได้จากเซลล์ต้นกำเนิดในปลาไหลไฟฟ้า มาทดลองสร้างเซลล์ไฟฟ้าในสิ่งมีชีวิตทดลอง เช่น เมดากะหรือเซลล์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และพัฒนาต่อยอดสู่ วัสดุชีวภาพที่ผลิตไฟฟ้าได้” เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมการแพทย์ อิเล็กทรอนิกส์ชีวภาพ หรือแม้แต่พลังงานทางเลือก ความหวังจากปลาไหลไฟฟ้าครั้งนี้ ไม่ได้เป็นแค่เรื่องของปลา แต่อาจกลายเป็นนวัตกรรมเพื่อชีวิตของมนุษย์ในอนาคต