รอบรั้วเมืองใต้ฉบับนี้ ผู้เขียนขอเข้าร่ายข่าวสังคม ชมคนที่ควรชม ข่มคนที่ควรข่ม ตามวิสัยคนหนังสือพิมพ์อาชีพ ที่เห็นมาอย่างไร ก็เขียนไปอย่างนั้น
นี่ก็เดินทางโยกย้ายพร้อมกับ ฟ้าฝน วรณัฐ หนูรอด รอง ผวจ.สงขลา มีคำสั่งจาก สุทธิพงศ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ให้ไปรับตำแหน่ง รองผวจ.สมุทรสาคร เป็นคำสั่งโดดๆ เพียงคนเดียวที่ถูกโยกย้าย ก็ไม่เป็นไร ถือว่าเปลี่ยนที่ทำงาน เพราะเป็นรองผวจ.สงขลา มาแล้วถึง 5 ปี
ในขณะที่ สมนึก พรหมเขียว ผวจ. สงขลา คนใหม่ แม้จะมีอายุราชการแค่ 1 ปีแต่ฟิตจัด จัดระเบียบสังคมเอาจริงกับสถานบันเทิง และเรื่องการปราบปรามยาเสพติด และการพัฒนา ส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกผักกินในครัวเรือน เรื่องการบังคับใช้กฎหมาย กับ สถานบริการก็ขอให้เน้น ที่พื้นที่คอหงส์ อ.หาดใหญ่ที่สถานบริการไม่ได้อยู่ในเขตโซนนิ่ง แถมเปิดใกล้ วัด และสถานศึกษา ร้ายไปกว่านั้นไม่มีใบอนุญาตยังเปิดให้บริการเย้ยกฎหมายอยู่ได้ และที่เทศบาลตำบลสำนักขาม อ.สะเดา จ.สงขลา ซึ่งสถานบันเทิง นอกจากจะเปิดเกินเวลาแล้ว ยังไม่มีใบอนุญาต โดยเฉพาะ โรงแรม เป็นจำนวนมาก ที่อยู่ในพื้นที่ ตรวจสอบด้วยว่าเป็นการก่อสร้าง ที่ถูกต้องตามกฎหมาย และมีใบอนุญาต หรือไม่ และอีกเรื่อง พ่อเมืองสงขลาที่มาใหม่คือเรื่องโพงพาง ในทะเลสาบสงขลา ที่รุกล้ำร่องน้ำเดินเรือ และทำลายทัศนียภาพของทะเลสาบ ที่พ่อเมืองคนก่อนๆ ไม่มีใครกล้า ที่จะดำเนินการตามกฎหมาย เวลา 1 ปี ของสมนึก พรหมเขียว ควรที่จะทำเรื่องใหญ่ๆ เพื่อให้คนสงขลา ได้จดจำ วันที่ท่านหมดหน้าที่ ผู้คนจะได้คิดถึง
ข่าวว่า พล.ต.ต.เชาวลิต เลี้ยงสุพงศ์ ผบก.ภ.จว.สงขลา คนใหม่ ก็ฟิตจัด มีการเอาจริงกับ อบายมุข ในทุกพื้นที่เป็นการจัดระเบียบแถวตรง เพื่อป้องกันการนอกแถว ของทั้งผู้บริหารโรงพัก และ เจ้าของ กิจการ ว่างั้น ก็เล่นเอาอดยากปากแห้ง ในหมู่ของสีกากี ด้วยกัน ถ้วนหน้า
อ้าว น้ำตาลทรายในภาคใต้หลายจังหวัด นอกจากจะขาดตลาด ยังขึ้นราคาไปแล้วกิโลกรัมละ 2-3 บาท ก็ไหนรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ ภูมิธรรม เวชยชัย บอกว่าไม่ให้ขึ้นราคาไง แล้วทำไม ร้านค้า จึง
ไม่เชื่อฟัง ที่สำคัญ น้ำตาลแว่น, น้ำตาลปี๊บ,น้ำตาลโตนด ก็ขึ้นราคาไปแล้ว กิโลกรัมละ 5 บาท แล้ว น้ำตาลพวกนี้ไปเกี่ยวอะไรกับโรงงานน้ำตาล กับชาวไร่อ้อย เอ้า อธิบดีกรมการค้าภายใน สั่งการให้พาณิชย์จังหวัด ออกตรวจสอบด้วยชาวบ้านเดือดร้อนนะ
.เห็นด้วยกับ พีระพันธุ์สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานที่ไม่แฮปปี้ กับ นโยบายการขึ้น-ลง ของ ราคาน้ำมันจากโรงกลั่น ที่มีการขึ้น-ลงเป็นรายวัน ทั้งที่ไม่ใช่ตลาดหุ้น ก็ต้องบอกให้รัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน ได้รับรู้อีกเรื่องว่า ราคาซื้อขาย ที่ คลังน้ำมัน ในภาคใต้ ทั้งที่ จ.สงขลา และที่จ.สุราษฎร์ธานี ไม่ได้ขึ้นลงวันละครั้ง แต่มีการแกว่งไกวไป-มา บางวันขึ้น-ลง 3 รอบ ยิ่งกว่า การขึ้น-ลง ของราคาทองคำ เรื่องนี้ รัฐมนตรีพลังงาน ต้องถาม อธิบดีกรมน้ำมันเชื้อเพลิง และต้องมีนโยบาย ที่ชัดเจนในการ พูดคุย กับโรงกลั่น ทั้งหมดในประเทศไทย เพื่อสร้างมาตรฐานของธุรกิจพลังงาน ให้เกิดขึ้น เพราะการขึ้น-ลง วันละหลายรอบของน้ำมันเชื้อเพลิง ไม่เพียงแต่ประชาชน ที่ต้องแบกรับ ราคาน้ำมันที่แพง แต่ผู้ค้าน้ำมันรายย่อย ก็กำลังที่จะถึงจุดของการล้มละลาย ทางธุรกิจการค้าเช่นกัน
ภาคเหนือ, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หนาวแล้ว แต่ภาคใต้ เข้าสู่หน้ามรสุม ฝนตก ลมแรง เรือเล็ก เรือขนาดกลาง ต้องจอดรอ นั่นหมายถึงขาดรายได้ เช่นเดียวกับชาวสวนยาง ที่ร่ำรวยก็กินอิ่ม นอนอุ่น แต่ ที่ยากจน ก็ต้องอยู่อย่างเสดสา ต้องหยิบยืม เพื่อนบ้าน เพื่อการประทังชีวิต เพราะตัดยางไม่ได้ เรื่องนี้คือเรื่องปากท้อง ที่ในตอนหาเสียง พรรคการเมืองหลายพรรคหยิบมาเป็นจุดขาย แต่หลังเป็นรัฐบาล ก็ไม่ได้ ขับเคลื่อน อย่างที่หาเสียงกันไว้ ชีวิต ชาวสวนยาง มีสองหน้า ที่ รัฐบาลต้องดูแล คือหน้าฝนกับหน้ายางผลัดใบ ซึ่งเป็น สองฤดูกาล ที่ต้องกู้หนี้ยืมสิน ที่ต้องฝากให้ รัฐบาล หาทางเยียวยา
ปรีชา สถิตย์เรืองศักดิ์