วันอังคาร, 15 กรกฎาคม 2568

รอบรั้วเมืองใต้ 7 กันยายน 2566

รอบรั้วเมืองใต้ฉบับนี้ ผู้เขียนขอเข้าร่ายข่าวสังคม  ชมคนที่ควรชม ข่มคนที่ควรข่ม ตามวิสัยคนหนังสือพิมพ์อาชีพ ที่เห็นมาอย่างไรก็เขียนไปอย่างนั้น

ในที่สุด ประเทศไทย และคนไทยก็ได้รัฐบาลชุดใหม่ได้นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศคือ เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่กุมบังเหียนเพื่อนำพารัฐนาวาที่ชื่อว่าประเทศไทยฝ่าคลื่นลม ด้านเศรษฐกิจและปากท้องที่โหมกระหน่ำคนทั้งประเทศในขณะนี้ เพื่อเดินไปข้างหน้า ซึ่งเชื่อว่า เมื่อเลือกไม่ได้และไม่มีทางเลือก ทุกคน ก็ต้องจำใจ ที่จะยอมรับรัฐบาลชุดนี้ และเอาใจช่วย ให้รัฐนาวาที่ชื่อ นิด 1 เดินหน้าไปให้ได้ เพื่อประโยชน์ของคนทั้งชาติ

แม้ว่าเมื่อดูตามรายชื่อของผู้ที่เป็นเสนาบดีแต่ละกระทรวงมีความรู้สึกอิหลักอิเหลื่อ เพราะเป็นการได้คนที่ไม่ตรงกับงาน มาทำหน้าที่เสนาบดี เช่นเอาผู้ที่สันทัดด้านมวลชน และงานการเมือง อย่างภูมิธรรม เวชชชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย มาเป็นเสนาบดีกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งยังมองไม่ออก ว่า จะพากระทรวงพาณิชย์ ที่เป็นกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับ ราคาสินค้าภายในประเทศ ที่เกี่ยวกับปากท้องของคนส่วนใหญ่ที่เป็นรากหญ้าอย่างไร และจะค้าขาย กับต่างประเทศอย่างไร เพื่อให้ สินค้าจากไทยไปแข่งขัน กับคู่แข่งเพื่อสร้างรายได้นำเข้าประเทศ กระทรวงนี้เป็นกระทรวงที่ทำดีเสมอตัว แต่ถ้าทำไม่ได้ติดลบ ทันที เช่นเดียวกับที่จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตเสนาบดีกระทรวงพาณิชย์ โดนมาแล้ว ทั้งที่มีผลงาน แต่ประชาชนมองไม่เห็น เพราะไม่สามารถควบคุมราคาสินค้าได้ตามที่ต้องการ

หรือกระทรวงพลังงาน ที่มีพีระพันธ์ุ สาลีรัฐวิภาค เป็นเสนาบดี ที่เริ่มต้นด้วยการลดราคาน้ำมันเพื่อเอาใจประชาชน ก็เห็นชัดว่าเป็นฝีมือที่พื้นๆ ด้วยการลดภาษีสรรพสามิต เพื่อให้ราคาน้ำมันดีเซล ลดลงเหลือลิตรละ 28 บาท แน่นอน ประชาชนได้ใช้น้ำมันในราคาที่ถูกลง แต่รายได้ของประเทศหายไป ซึ่งต้องมีผลกระทบกับการคลัง ถ้ารัฐบาลหารายได้อื่นๆ เช่นการค้าขายและการท่องเที่ยว มาชดเชย ไม่ได้ ปัญหาก็จะตามมาเป็นพรวน  เรื่องที่เสนาบดีกระทรวงพลังงานควรทำคือเรื่องการรื้อโครงสร้างของโรงกลั่นทั้งหมดในประเทศไทยเพื่อให้มีการบริหารที่สะท้อนข้อเท็จจริง ไม่ใช่การปล่อยให้ทุนพลังงาน โกยกำไรปีละหมื่นล้านแสนล้าน โดยการขูดรีดกำไรจากประชาชน อย่างที่เป็นอยู่

ที่สงสัยคือเรื่องนำเข้าน้ำมันเสรี ที่จะให้มีการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป พูดนะดูดี แต่ทำนะอย่างไร ในเมื่อสถานบริการน้ำมัน เป็นของโรงกลั่น ทั้งของต่างชาติ และบางจาก กับ ปตท. ที่มีสัญญาค้ำคอ ต้องซื้อน้ำมันที่จัดหาให้โดยเจ้าของแบรนด์ การนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปที่มีราคาถูก นำมาแล้วขายให้ใคร เมื่อสถานบริการหรือปั๊มน้ำมัน นำน้ำมันที่ถูกกว่า มาขายไม่ได้ แล้ว ประชาชน จะได้ประโยชน์ตรงไหน และที่สำคัญ ถ้ามีการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป เมื่อมาถึงประเทศไทย จะเก็บน้ำมันอย่างไรที่ไหน ในเมื่อคลังน้ำมัน ที่มีอยู่เป็นของโรงกลั่น  และบริษัทน้ำมัน 5-6 บริษัทเท่านั้น

เช่นน้ำมันจากประเทศมาเลเซีย ที่เป็นนำมันสำเร็จรูป ราคาหน้าปั๊มลิตรละ  16 บาท ทั้ง ดีเซล และ เบนซิน ถ้าซื้อจากคลังเปโตรนาส โดยตรงซึ่งมีการบวกภาษีแล้ว อย่างที่ผู้นำเข้าด้วยการทรานซิสเส้นทาง เพื่อไปยังสปป.ลาว เมียนมา และ กัมพูชา ลิตรละ 19 บาท ทำอย่างไรที่จะนำเข้า มาขายในประเทศได้โดยไม่เป็นน้ำมันเถื่อน ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ เพราะจะกระทบกับสถานบริการน้ำมัน ที่เป็นแบรนด์ของโรงกลั่น ซึ่งแต่ละปั๊ม มีการลงทุน 20-50 ล้านบาท

เช่นเดียวกับการลดค่าไฟฟ้า ถ้าใช้วิธีการชะลอการใช้หนี้ของ กฟผ.กว่าหมื่นล้าน ก็ไม่ใช่วิธีคิดที่ทันสมัย หรือเป็นการแก้ที่โครงสร้าง เป็นวิธีการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่ใครๆ ที่เข้ามาเป็นเสนาบดี ก็คิดได้ทำเป็น เรื่องของไฟฟ้า ต้องแก้ที่ต้นตอ ของความผิดพลาด ของรัฐบาลที่ผ่านมาทั้งในสมัยของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สองอดีตนายกรัฐมนตรี ที่เอื้อเอกชน ด้วยการซื้อไฟทิ้ง แต่ให้ประชาชนเป็นผู้จ่ายค่าไฟที่เหลือใช้ ตรงนี้ต่างหากที่เสนาบดีต้องใช้ความกล้าหาญ ในการลงมีดเพื่อผ่าตัด

ปรีชา สถิตย์เรืองศักดิ์