วันพุธ, 23 กรกฎาคม 2568

ศิลปศาสตร์ ม.อ. เจ้าภาพประชุมวิชาการนานาชาติ เสริมสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์

23 ก.ค. 2025
5

คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับ Faculty of Defence Studies and Management, National Defence University of Malaysia ประเทศมาเลเซีย สถาบันชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ สถาบันคู่ความร่วมมือหลัก ได้แก่ Faculty of Defence Studies and Management, National Defence University of Malaysia ประเทศมาเลเซีย และศูนย์วิจัยด้านภาษา วัฒนธรรม และการพัฒนามนุษย์ในอาเซียนตอนล่าง และภาคีเครือข่ายความร่วมมือ ได้แก่ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ School of Humanities, Universiti Sains Malaysia ประเทศมาเลเซีย จัดงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ครั้งที่ 17 ภายใต้หัวข้อ “Navigating Humanities and Social Sciences in the AI Era” ณ โรงแรมลากูน่า แกรนด์ โฮเทล แอนด์ สปา สงขลา เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2568

การประชุมดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อเป็นเวทีให้อาจารย์ นักวิจัย นักวิชาการ และนักศึกษาจากทั่วโลกได้เผยแพร่ผลงานทางวิชาการ และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในมิติที่หลากหลาย ขับเคลื่อนความรู้ด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์สู่สากล ตลอดจนเสริมสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการและวิจัยระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภายในและต่างประเทศ

ภายในงานมีการปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “Navigating Humanities and Social Sciences in the AI Era” โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ Associate Professor Natalie Pang Lee San, Ph.D., National University of Singapore ประเทศสิงคโปร์ และปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “Digital Frontiers: How digitalization is Reshaping Humanity, Society and Culture” โดย Professor Dato’ Ts Ahmad Mujahid Ahmad Zaidi, Ph.D. FAPM FCILT PTech, National Defence University of Malaysia ประเทศมาเลเซีย

นอกจากนี้ ยังมีการเสวนาพิเศษ หัวข้อ “Crossing boundaries in the AI Era” โดย Professor Haruko Satoh, Osaka School of International Public Policy (OSIPP), Osaka University, Japan และ Professor Anusorn Unno, Ph.D., Thammasat University, Thailand

การประชุมวิชาการในครั้งนี้ได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมทั้งในและต่างประเทศกว่า 300 คน โดยผู้เข้าร่วมชาวต่างประเทศ ประกอบด้วย ประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย เนปาล อินเดีย และพม่า ตลอดจนมีผู้เข้าร่วมนำเสนอผลงานทางวิชาการ จำนวน 44 บทความ ทั้งนี้ การจัดประชุมครั้งต่อไปในปี 2569 จะจัดขึ้นที่ประเทศมาเลเซีย