ช่วงบ่ายวันนี้ (4 สิงหาคม 2567) ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา สภาวัฒนธรรมจังหวัดสงขลา จัดงาน “สยามภัสตรา สง่าภูษาศิลป์ ปีที่ 3” ระหว่างวันที่ 4 – 5 สิงหาคม 2567 โดย นางเลขา สุวรรณชาตรี วัฒนธรรมจังหวัดสงขลา เป็นประธานกล่าวเปิดงาน มี นางเขมชนิดาภา ฤทธิกาญจน์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดสงขลา นางสุนิสา รามแก้ว ประชาสัมพันธ์จังหวัดสงขลา พร้อมผู้อำนวยการศูนย์การค้าเซ็นทรัลหาดใหญ่ คณะกรรมการสภาวัฒนธรรม ส่วนราชการ และประชาชนทั่วไปเข้าร่วมกิจกรรม
นางเขมชนิดาภา ฤทธิกาญจน์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดสงขลา กล่าวว่า “เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง 12 สิงหาคม 2567 และด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงพระวิริยะอุตสาหะปฏิบัติพระราชกรณียกิจยาวนานกว่า 6 ทศวรรษ ในการพัฒนาส่งเสริมเรื่องผ้าไทย จากสิ่งทอของชาวบ้านที่เกือบสูญหายไปให้กลับมาเป็นอาภรณ์อันทรงคุณค่าเป็นมรดกแห่งภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่มีค่ายิ่งสำหรับประเทศไทย และทั่วโลกต่างชื่นชมและให้การยอมรับ สภาวัฒนธรรมจังหวัดสงขลา จึงกำหนดจัดงาน “สยามภัสตรา สง่าภูษาศิลป์” ขึ้นเป็นปีที่ 3 เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เป็นแรงบันดาลใจให้ร่วมกันอนุรักษ์รักษา สืบสานผ้าไทยที่คุณค่าอันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมไทย และสร้างให้เกิดกระแสนิยมในการแต่งกายด้วยผ้าไทย พร้อมทั้งต่อยอดผ้าไทยให้เป็นที่นิธมอย่างแพร่หลายในประเทศไทย และเผยแพร่สู่สากล ส่งผลสำคัญในการผลักดัน Soft Power วัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของไทย
โดยภายในงานมีการแสดงสินค้าจากกลุ่มภูมิปัญญาผลิตภัณฑ์ผ้าพื้นเมืองสงขลา จำนวน 6 กลุ่ม ดังนี้ ผ้าบาติกมีดี นาทับ, ผ้าบาติกยางกล้วย, ผ้ามัดย้อมกาแฟ สะบ้าย้อย, ผ้าทอกระแสสินธุ์, ปักผ้าปาเต๊ะ และผ้าเกาะยอ รวมทั้งอีกกลุ่มหัตถกรรมภูมิปัญญาท้องถิ่น อีก 2 กลุ่ม นอกจากนี้มีการแสดงเทิดพระเกียรติฯ และการเดินแฟชั่นโชว์โดยนางแบบสวมใส่ผ้าไทยและผ้าพื้นถิ่นสงขลาจากลุ่มผ้าต่าง ๆ ตระการหาไปด้วยลวดลายอันเป็นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะท้องถิ่นอันเป็นมรดกทรงคุณค่าทางวัฒนธรรม
ด้านนางเลขา สุวรรณชาตรี วัฒนธรรมจังหวัดสงขลา กล่าวว่า การจัดงานในครั้งนี้ เพื่อเป็นการแสดงออกถึงความจงรักภักดี น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณและเป็นการเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ ร่วมพัฒนาส่งเสริมสืบสาน รักษา ต่อยอดเรื่องผ้าไทยและหัตถศิลป์ไทย ผ้าพื้นเมืองของจังหวัดสงขลาให้ประชาชนได้เห็นคุณค่าของเชิดชูอนุรักษ์ ผ้าท้องถิ่น น้อมนำพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับการส่งเสริมการทอผ้าและการออกแบบลายผ้าพื้นเมือง และทรงใช้ผ้าเป็นต้นแบบมาเป็นแนวทางในการจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ ดังกล่าว ตลอดจนเพื่อส่งเสริมบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องให้เกิดการต่อยอด สืบสานงานผ้าไทยในด้านต่าง ๆ ประยุกต์ใช้ผ้าไทยให้เข้ากับยุคสมัยนิยมในปัจจุบัน ซึ่งเป็นมรดกทางภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สวมใส่ผ้าไทยได้จริงในชีวิตประจำวันและส่งผลสำคัญในการผลักดัน Soft Power วัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของไทยผ่านกิจกรรมการเดินแบบผ้าไทย และสร้างรายได้ไปสู่ท้องถิ่นและประเทศอย่างยั่งยืน