วันอังคาร, 22 กรกฎาคม 2568

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ จับมือสำนักงานพาณิชย์ จ.สงขลา สร้างโอกาสทางการค้าให้ผู้ประกอบการกาแฟโรบัสต้าสะบ้าย้อย ต้นกำเนิดกาแฟสายพันธุ์โรบัสต้าแห่งแรกของไทย สู่ตลาดการค้า FTA

29 ก.พ. 2024
52

ที่ วัดถ้ำตลอด อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา นางสาวบุณิกา แจ่มใส รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และคณะ ร่วมกับ นางสาวฉัตร์สุดา ชุมแสง พาณิชย์จังหวัดสงขลา นายชนินทร์ ชินวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทศกัณฑ์ โรสท์เตอร์รี่ จำกัด และนางสาวมาลัย กรแก้วสมนึก ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาความพร้อมทางการค้ากรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ พบปะเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟโรบัสต้า อำเถอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา เพื่อพูดคุยสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่อง FTA และโอกาสทางการค้าในตลาดการค้าเสรี ภายใต้โครงการ “การสร้างเครือข่ายเชื่อมโยง 4 จังหวัดชายแดนใต้ สู่ตลาดการค้าเสรีอาเซียน”

รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า การสัมมนาครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องการใช้ประโยชน์จาก FTA และแนะแนวทางเพิ่มมูลค่าและพัฒนาศักยภาพสินค้าให้สามารถขยายส่งออกไปตลาดการค้าเสรีได้ โดยเฉพาะในอาเซียน พร้อมเน้นย้ำการผลิตสินค้า BCG และสินค้าเพื่อสุขภาพ เพื่อเจาะตลาดผู้บริโภครุ่นใหม่และสอดรับกับเมกกะเทรนด์ เนื่องจากกาแฟโรบัสต้า เป็นพืชเศรษฐกิจที่เกษตรกรในพื้นที่นิยมปลูก ซึ่งที่อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา ยังเป็นจุดกำเนิดของกาแฟสายพันธุ์โรบัสต้าแห่งแรกของไทย โดยในปัจจุบัน การบริโภคกาแฟของโลกนั้นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยังจะเพิ่มสูงขึ้นอีกเล็กน้อยในปี 2567 เนื่องจากกระแสความนิยมการดื่มกาแฟคั่วบดและกาแฟสำเร็จรูปมีเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งข้อมูลในปี 2566 พบว่า มูลค่าการส่งออกสินค้ากาแฟและผลิตภัณฑ์กาแฟอยู่ที่ 125.9 ล้านดอลลาห์สหรัฐ มีอัตราขยายตัวเพิ่มขึ้น 15.61 % ส่วนมูลค่าการนำเข้าปี 2566 อยู่ที่ 338.42 ดอลลาห์สหรัฐ มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น 12.49 %

ด้านเกษตรกร อ.สะบ้าย้อย และผู้ประกอบการต่างมีความสนใจที่จะขยายตลาดส่งออกสินค้า ด้วย อ.สะบ้าย้อยถือเป็นแหล่งปลูกพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยเฉพาะกาแฟโรบัสต้า เนื่องจากภูมิศาสตร์ที่เหมาะสมสำหรับการปลูกกาแฟ ทำให้มีผลผลิตที่ดี เมล็ดกาแฟมีกลิ่นหอม รสชาติกลมกล่อม แต่ปัจจุบัน ผลผลิตกาแฟมีน้อย ทำให้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด แต่คาดว่าในปี 2569 – 2570 ผลผลิตจะเพิ่มมากขึ้น และเพียงพอต่อความต้องการของตลาด เนื่องจากหน่วยงานภาครัฐมีการสนับสนุนขยายพื้นที่การปลูกไปยัง อ.จะนะ อ.นาทวี และอ.นาหม่อม จากเดิมปลูกอยู่ที่ 300 ไร่ ตอนนี้ขยายเพิ่มเป็น 1000 ไร่ ทั้งนี้ เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของตลาด และเป็นการยกระดับสร้างมูลค่าสินค้ากาแฟสู่ตลาดการค้า FTA